ชื่อเรื่อง           การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียน

           ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนเวียงสะอาดพิทยาคม

ผู้วิจัย             จิตนภา ไชยเทพา                 

ปีที่วิจัย         2561

บทคัดย่อ

         การพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนเวียงสะอาดพิทยาคมเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญและส่งผลต่อคุณภาพและประสิทธิภาพของการจัดการศึกษาในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเรียนการสอนเพราะมีส่วนกระตุ้นอารมณ์และสติปัญญาของนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีได้ การวิจัยในครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนเวียงสะอาดพิทยาคม ตำบลเวียงสะอาด อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ประจำปีการศึกษา 2561 ตามกรอบการศึกษาค้นคว้า 3 ด้าน คือ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ สภาพแวดล้อมทางจิตภาพและสภาพแวดล้อมทางสังคม โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติ (Action Research) 2 วงรอบ แต่ละวงรอบประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 556 คน ได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 33 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 15 คน นักเรียน จำนวน 254 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 254 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมิน แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต และการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้เทคนิคการตรวจสอบข้อมูลสามเส้า (Triangulation Technique) และนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นความเรียง

         ผลการวิจัย ปรากฏดังนี้

        1. มีการสำรวจก่อนการพัฒนาสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ห้องเรียนไม่สะอาดไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยและไม่มีความปลอดภัย นักเรียนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเกี่ยวกับความมีระเบียบวินัยการพูด และความมีสัมมาคารวะ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อดำเนินการพัฒนาโดยใช้กลยุทธ์การร่วมทำเพื่อระดมความคิดในการแก้ไขปัญหาสภาพแวดล้อมในโรงเรียนและการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมตามกรอบการศึกษา

         2.   สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ห้องเรียนมีความสะอาด นักเรียนได้ช่วยเหลือกันจัดห้องเรียนของตนให้สะอาด จัดโต๊ะ เก้าอี้ และมุมประสบการณ์ในห้องเรียนเป็นระเบียบสะดวกในการใช้งาน และมีความปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิม แต่ยังไม่สามารถปลูกฝังให้มีลักษณะนิสัยที่ถาวรได้เนื่องจากมีเวลาจำกัด

          3.   สภาพแวดล้อมทางจิตภาพ นักเรียนมีพฤติกรรมที่เหมาะสม มีความสมัครสมานสามัคคี ช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้น พูดจาสุภาพ มีสัมมาคารวะ มีระเบียบวินัย ส่งผลต่อการเรียนการอยู่ และการทำกิจกรรมร่วมกัน เคารพในสิทธิของเพื่อนร่วมชั้นเรียน แต่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นยังไม่เป็นนิสัยที่ถาวร ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

4.   สภาพแวดล้อมทางสังคม ครูได้มีการพัฒนาการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน มีการให้การเสริมแรงนักเรียนที่ตั้งใจเรียนและประพฤติดี ครูให้การยกย่องชมเชยจากสาธารณชน รวมทั้งการแนะนำตักเตือนนักเรียนที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสม หากจำเป็นต้องลงโทษ สั่งให้ทำกิจกรรมนอกเหนือจากกิจกรรมที่ทำตามปกติขณะที่อยู่ในโรงเรียน เช่น ทำความสะอาดห้องเรียน หรือทำความสะอาดห้องน้ำ เป็นต้น แต่การจัดการเรียนการสอนของครูยังขาดการบูรณาการดังกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ