- รายละเอียด
- จำนวนผู้เข้าชม: 732
ชื่อเรื่อง การพัฒนาครูด้านการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน
โรงเรียนนาข่าวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
ผู้วิจัย นายพชรพงศ์ วงศ์คำมา
หน่วยงาน โรงเรียนนาข่าวิทยาคม อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
ปีที่พิมพ์ 2560
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาครูโรงเรียนนาข่าวิทยาคม ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ แนวคิด ทฤษฎีการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน
ครูสามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้และสามารถจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) ตามแนวคิดของ เคมมิส และแมกแทกการ์ท (Kemmis and McTaggart) ดำเนินการเป็น 2 วงรอบ แต่ละวงรอบประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย จำนวน 9 คน ได้แก่ ผู้วิจัย และผู้ร่วมวิจัยซึ่งเป็นครูโรงเรียนนาข่าวิทยาคม จำนวน 8 คน ที่สมัครใจเข้าร่วมการพัฒนา กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 73 คน ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียนจำนวน 1 คน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 70 คน และวิทยากร จำนวน 2 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบบันทึก และแบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ การตรวจสอบข้อมูลใช้เทคนิค การตรวจสอบแบบหลายมิติ วิเคราะห์และนำเสนอผลการวิจัยโดยวิธีพรรณนา
ผลการวิจัยก่อนดำเนินการพัฒนา กระบวนการในการจัดการเรียนรู้ของครูโรงเรียนนาข่าวิทยาคม พบว่า ครูยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ขาดความเข้าใจเรื่องการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ส่งผลให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้วิจัยได้วางแผนการพัฒนาโดยใช้ หลักการวิจัยปฏิบัติการ (ActionResearch) ใช้กลยุทธ์ในการพัฒนา 4 กลยุทธ์ คือ การศึกษาเอกสาร การประชุมเชิงปฏิบัติการ การศึกษาดูงาน และการนิเทศ ดำเนินการพัฒนา 2 วงรอบ ดังนี้
วงรอบที่ 1 (1) ผลจากการศึกษาเอกสาร ด้วยกิจกรรมมอบหมายงานและการประชุมกลุ่มย่อยร่วมกัน ทําให้กลุ่มผูรวมวิจัยมีความรูความเขาใจ และมองเห็นรายละเอียดการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ และการประชุมกลุ่มย่อยร่วมกัน หลักการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ แต่ยังขาดทักษะและความมั่นใจที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริง โดยเฉพาะการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ที่ประกอบด้วย การบูรณาการฝึกทักษะการคิดวิเคราะห์เนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้ การออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ การใช้รูปแบบและเทคนิควิธีการสอนด้านการคิดวิเคราะห์ การพัฒนาสื่อและนวัตกรรมที่เน้นการคิดวิเคราะห์ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ (2) การประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยใช้กิจกรรมการทดสอบก่อนและหลังการประชุมการบรรยายให้ความรู้และการฝึกปฏิบัติ ซึ่งได้ข้อค้นพบว่าครูมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้และสามารถเขียนแผนการสอนได้ แต่ยังขาดความมั่นใจบางขั้นตอนในการจัดกิจกรรม การเรียนการสอนเนื่องจากขาดความพร้อมหลายด้าน (3) การศึกษาดูงานโรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ คือ โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม อำเภอกันทรวิชัย หลังจากการศึกษาดูงานทำให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัยได้รับความรู้และประสบการณ์จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายวิธี สามารถนำมาใช้ประยุกต์ให้เกิดการพัฒนาในการจัดการเรียนรู้ของตนเองได้เป็นอย่างดี (4) การนิเทศภายใน ด้วยกิจกรรมการนิเทศแผนการจัดการเรียนรู้และกิจกรรมการสาธิตการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน ทำให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัยมีความรู้ความเข้าใจในด้านการจัดการเรียนรู้ สามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ได้ แต่การพัฒนาในวงรอบที่ 1 ยังค้นพบปัญหาคือ กิจกรรมเน้นให้ผู้เรียนฝึกการคิดยังไม่อย่างหลากหลาย กิจกรรมเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นคว้ารวบรวมข้อมูลมีน้อย พฤติกรรมที่ระบุยังไม่เหมาะสมกับเนื้อหาและวัยของเรียน ขาดการบูรณาการเนื้อหาเพื่อนำไปสร้างองค์ความรู้ใหม่ ซึ่งยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ควรดำเนินการพัฒนาปรับปรุงในวงรอบที่ 2 ต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
วงรอบที่ 2 โดยจัดกิจกรรมการนิเทศการสอนและการนิเทศแนะนำให้คำปรึกษา ผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากแบบสังเกตและแบบสัมภาษณ์ พบว่า การใช้กลยุทธ์การนิเทศแบบต่อเนื่อง กลุ่มผู้ร่วมวิจัยมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้ มีทักษะปฏิบัติและการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ สามารถจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะ การคิดวิเคราะห์ ตลอดทั้งนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับนักเรียน ทำให้ปัญหาเรื่องครูขาดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์หมดไป ส่วนการนิเทศแนะนำให้คำปรึกษาพบว่า กลุ่มผู้ร่วมวิจัยมีความตื่นตัว กระตือรือร้น และได้เทคนิควิธีการใน การจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์มากขึ้น
โดยสรุป ผลจากการพัฒนาทั้ง 2 วงรอบ ทำให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัยซึ่งเป็นครูของโรงเรียนนาข่าวิทยาคม ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็น ในเรื่องประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน
ที่จะส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้ได้มาตรฐานบรรลุตามจุดมุ่งหมายตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ครูสามารถจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ของผู้เรียนได้อย่างมั่นใจ เป็นการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพ
ตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป